31 มีนาคม 2015

โลกในปัจจุบันนั้นมีความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงสูงในทุกมิติ  ประเทศต่างๆ จึงต้องร่วมมือกันประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะต้องรับผลกระทบร่วมกัน ล่าสุดมีรายงานเกี่ยวกับเรื่องความเสี่ยงในระดับโลกที่ได้รวบรวมข้อมูลสำคัญๆ ไว้ชื่อ Global Risks 2015 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสมาพันธ์เศรษฐกิจโลกหรือที่รู้จักในชื่อ “ World Economic Forum”    ซึ่งเป็นรายงานที่แสดงความเสี่ยงในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างในโลกล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน
รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงต่าง ๆ  ที่มีความสำคัญในระยะยาว โดยได้สอบถามความคิดเห็นมาจากผู้เชี่ยวชาญ    ผู้นำและผู้จัดทำกลยุทธ์ของประเทศ (Global Decision Maker) ในรูปแบบประเมิน Executive Opinion Survey (EOS)

การนำ Global Risks Report มาใช้ส่วนใหญ่ก็เพื่อมาพัฒนา Scenario เพื่อเตรียมตัวรับมือกับวิกฤติ ประเมินช่องว่างและศักยภาพในการรับมือกับปัญหา   อบรมผู้นำหรือบุคคลสำคัญที่มีส่วนในการตัดสินใจ ( Decision Maker) และการสร้างแบบจำลองความเสี่ยงจากภายนอกที่กระทบต่อธุรกิจ  โครงสร้างของรายงานแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 Global risk 2015 ส่วนที่ 2 Risks in focus  อธิบายถึง ประเด็นหลัก ๆ ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง และส่วนที่ 3 Good Practices on Risk Management and Risk Resilience   จะอธิบายเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงและความยืดหยุ่นของความเสี่ยงที่เกิดขึ้น     โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

การวิเคราะห์ได้ขยับจากการระบุว่า  อะไรคือความเสี่ยง  มาเป็นการพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกัน  และแนวโน้มที่ผลกระทบของความเสี่ยงนั้นจะต่อเนื่องเป็นโดมิโนโดยระบุเป็น 28 Global risks  ( แบ่งเป็นมิติด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สังคม การเมือง และเทคโนโลยี  )  การจัดทำ Global Risks Report  นี้จะก่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาคธุรกิจ   ภาครัฐและสังคมระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ผลการศึกษาจากรายงาน ปีค.ศ 2015 พบว่าความเสี่ยงที่มีแนวโน้ม (Likelihood) ที่จะเกิดขึ้นจะเกี่ยวกับภาวะทางการเมืองและ สภาพแวดล้อมเสียมากกว่า ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างรัฐ (Interstate conflict), ความแปรปรวนของสภาพอากาศ (Extreme weather events), ความล้มเหลวของธรรมภิบาลการบริหารของประเทศ (Failure of national governance), ความล้มสลายของรัฐหรือวิกฤตการณ์ (State collapse or crisis), ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural catastrophes) และความล้มเหลวในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นต้น (Failure of climate-change adaptation)

ขณะที่มิติอื่น ๆ ยังมีความสำคัญไม่มาก อาทิ มิติเทคโนโลยี คือ การทุจริต หรือการจารกรรมข้อมูล (Data fraud or theft) และอาชญากรรมไซเบอร์  การโจมตีความมั่นคงทางสารสนเทศ) (Cyber attacks) มิติเศรษฐกิจคือ การว่างงานและการทำงานได้ไม่เต็มความสามารถ (Unemployment and Underemployment) และมิติสังคม คือ วิกฤติด้านทรัพยากรน้ำ (Water crisis)

และความเสี่ยงที่เมื่อเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบรุนแรงมากที่สุด (Impact) คือ วิกฤติทรัพยากรน้ำ รองมาคือ การแพร่กระจายของโรคติดต่อ (Spread of infectious diseases) และ ภัยจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Weapons of mass destruction) และเมื่อแยกเป็น 5 มิติข้างต้นจะพบว่า มีจำนวนปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบมากที่สุด ประกอบด้วย วิกฤติด้านราคาพลังงาน (Energy price shock) ความล้มเหลวของสถาบันหรือกลไกทางการเงิน (Fiscal crises) และ การว่างงาน/การทำงานได้ไม่เต็มความสามารถ

เมื่อพิจารณาความเสี่ยง ประเด็นที่น่าสนใจ มีดังนี้
การมีอิทธิพลซึ่งกันและกันระหว่างการเมืองและเศรษฐกิจ (Interplay between geopolitics) ปัจจุบันหลายประเทศมักจะนำเครื่องมือทางเศรษฐกิจจากการรวมกลุ่มของประเทศและสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศมาใช้เป็นนโยบายใน 1.การป้องกันประเทศ 2.การลงทุนระหว่างกัน 3.การสร้างความเป็นมหาอำนาจ ซึ่งนโยบายต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นอุปสรรคของการเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจระหว่างกัน โดยควรจะผลักดันให้เกิด International rule-based system มากกว่า
การเกิดสังคมเมืองในประเทศกำลังพัฒนา (Urbanization in development countries) ในโลกปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่อยู่ในระยะ  Middle of a major transition จะมีการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทเข้าสู่สังคมเมืองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในทวีปเอเชียและแอฟริกา ซึ่งถ้าหากมีการจัดการที่ดี จะถือเป็นช่วงตั้งไข่ของการพัฒนานวัตกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตามจากการระบุความเสี่ยงของ WEF พบว่า Global risks เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โรคระบาด ความวุ่นวายทางสังคม  และความเสี่ยงจากการจารกรรมข้อมูล และอาชญากรรมไซเบอร์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ภาครัฐจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวที่ดี
ธรรมาภิบาลของการพัฒนาด้านเทคโนโลยี (Governance of emerging technologies) ปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สาขา สังเคราะห์ชีววิทยา (Synthetic biology) และ การพัฒนาของระบบคอมพิวเตอร์ (Artificial intelligence) ทำให้เกิดความสามารถใหม่ๆ มาแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลกที่เกิดขึ้นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ควรมีกลไกการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ สร้างความสมดุลระหว่างความต้องการเชิงพาณิชย์ และจริยธรรม รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในระยะกลางถึงระยะยาว ซึ่งจะเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสังคม

สำหรับการบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น พบว่าในหลายประเทศมีแนวทางในการจัดการที่แตกต่าง สำหรับวิกฤติทรัพยากรน้ำซึ่งมีโอกาสเกิดได้สูงในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ก็มีแนวทางการบริหารน้ำของประเทศออสเตรเลียเป็นต้นแบบได้ หรือที่เรียกว่า “The modeling of the Murray-Darling Basin river system ”

นอกจากนี้ ก็ยังมีตัวอย่างหน่วยงานในสหรัฐอเมริกา “The Resilient America Roundtable” ที่เข้ามาดูความเสี่ยงที่เกิดจากภัยธรรมชาติ (รายละเอียดเพิ่มเติมจากลิงค์: http://sites.nationalacademies.or/PGA/resilientamerica/) และยังมีองค์กรต้นแบบอีกส่วน Zürs Public ซึ่งเป็นหน่วยงานการบริหารจัดการน้ำท่วมในเยอรมัน ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ก็ได้มีการจัดทำเครื่องมือเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนทั่วไป และภาคธุรกิจในการเตรียมความพร้อมกับความเสี่ยงจากน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้น

 

อ้างอิง http://www.weforum.org/reports/global-risks-report-2015
ภาพจาก http://i.ytimg.com/vi/ObDTH5ejYDA/maxresdefault.jpg



Writer

โดย วนิดา จรุงกิจกุล

นักวิจัย ส่วนวิจัยการเพิ่มผลผลิต
ฝ่ายวิจัย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ