31 มีนาคม 2015

ใกล้เข้ามาทุกทีสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community : AEC) จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 ขยายการเปิดออกมาเป็นวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 เนื่องจากผู้นำบางประเทศ   เกิดความกังวลว่าหากเปิด AEC แล้วอาจทำให้ประเทศได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังมีข้อตกลง และขั้นตอนบางอย่าง   ที่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ส่งผลให้ต้องเลื่อนการเปิด AEC ออกไปก่อน

ทั้งนี้ คงทำให้ผู้ประกอบการหลายรายโล่งอก หายใจได้ทั่วท้องมากขึ้น เพราะยังมีผู้ประกอบการอีกเป็นจำนวนมาก   ที่ยังไม่พร้อม และกังวลกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังจากเปิด AEC โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)  ที่ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ถึงแม้สภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทยถือว่าได้เปรียบประเทศอื่นๆ เพราะนอกจากจะอยู่ในจุดที่เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่ดีเยี่ยมแล้ว ยังสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว  ได้อีกด้วย แต่ในทางกลับกันหากประเทศไทยยังไม่พร้อมก็อาจกลายเป็นเพียงแค่ทางผ่านเท่านั้น

และเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ธุรกิจไทย บริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด และมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และได้รับการสนับสนุนจากหุ้นส่วนเชิงสร้างสรรค์  ไทย-สหรัฐอเมริกา เปิดเวทีเสวนาในหัวข้อ “เตรียมพร้อมธุรกิจไทย มีชัยเหนือคู่แข่งในยุค AEC” โดยมีประเด็นสำคัญ  ที่ผู้เขียนอยากจะขอหยิบยกมาเล่าต่อผู้ประกอบการไทย ซึ่งมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน นั่นคือ การลดต้นทุนด้านพลังงาน  และการสร้าง Brand ของตนเอง ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นข้อมูลพื้นฐานให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้เรียนรู้ถึงแนวทาง  ในการลดต้นทุนด้านพลังงาน ตลอดจนการสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้  เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้แก่ธุรกิจไทย และสามารถก้าวเข้าสู่ยุค AEC ได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

อย่ามองข้าม…ต้นทุนด้านพลังงาน

ดร.เทวารัฐ  สูตะบุตร  รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน   กล่าวในวงเสวนาว่า เราต้องค้นหาความได้เปรียบในเชิงธุรกิจเมื่อตลาด AEC เปิดขึ้นเ พราะตลาด  AEC จะกลายเป็นตลาดเดียว (Single Market) และมีเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายสินค้า (Free Flow of Goods) การบริการ (Free Flow of Services)  การลงทุน (Free Flow of Investment) เงินทุน (Free Flow of Capital) และแรงงาน (Free Flow of Skilled Labour) เพราะฉะนั้นบางอุตสาหกรรมหากไม่มีการปรับตัวก็อาจตายได้ แต่บางธุรกิจอาจมีข้อได้เปรียบ ปัญหาต่างๆ ที่เคยเป็นอุปสรรค ก็จะกลายเป็นโอกาสได้

“ผมขอเน้นเรื่องต้นทุนด้านพลังงาน เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้พลังงานมากในการผลิตสินค้าและบริการ  เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ จากสถิติปัจจุบันใน 1 ปี เรามีสัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเมื่อเทียบกับ GDP จะอยู่ที่ 18-19% หรือทุก 100 บาทของรายได้จะต้องนำมาจ่ายค่าพลังงานประมาณ 18-19 บาท”

ดังนั้น จึงต้องมีการนำนวัตกรรมที่เป็นระบบ Automation เข้ามาช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูล และนำข้อมูลที่ได้  มาสื่อสารเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งการบริหารจัดการต้นทุนด้านพลังงานให้มีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นอยู่กับ  ปัจจัย 3 ประการคือ หนึ่ง ความตั้งใจจริงที่จะทำ สอง มีนวัตกรรมที่จะช่วยในการบริหารหรือไม่ และสาม มีทีมงานหรือไม่  เพราะ CEO หรือเจ้าของโรงงานเพียงลำพังคงไม่สามารถบริหารต้นทุนด้านพลังงานทั้งโรงงานได้ จึงต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ  มาประกอบกันถึงจะสำเร็จ

Home Automation เป็นเทคนิคในการวัดข้อมูลการใช้พลังงานทุกจุด 

นวัตกรรมช่วยได้

ดร.เทวารัฐ  เล่าถึงนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการไทยให้สามารถลดต้นทุนด้านพลังงานได้ ดังนี้   “นวัตกรรมที่ว่านี้เรียกว่า Home Automation เป็นระบบอัจฉริยะที่จะช่วยบริหาร Demand & Supply การใช้พลังงาน  ของโรงงาน  ถ้าในโรงงานมีแหล่งพลังงานมากกว่า 1 แหล่ง เช่น ผลิตเองบ้าง เอาเข้าจากสายส่งบ้าง ท่านก็มีโอกาสเลือกได้ว่าต้นทุนไหนถูกกว่ากัน  ซึ่งจะทำให้ท่านสามารถบริหารจัดการต้นทุนพลังงานแบบ Real Time ได้ แต่หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่  ท่านมี Automation หรือท่านไม่มี ประเด็นอยู่ที่ว่าท่านสามารถนำข้อมูลที่ได้มาสื่อสารเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม  ได้หรือไม่มากกว่า”

รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานฯ ขยายความต่อว่า Home Automation เป็นเทคนิคในการวัดข้อมูลการใช้พลังงาน  ในทุกจุดที่มีการใช้พลังงาน จากนั้นก็จะส่งข้อมูลมารวมไว้ที่สมองกลตัวหนึ่ง สมองกลก็จะทำหน้าที่วิเคราะห์ให้เห็นภาพว่าปัจจุบันท่านใช้พลังงานไปเท่าไร หากใช้พลังงานเกินกำหนด ท่านสามารถตัดสินใจทำอะไรได้บ้างหรือไม่  โดยข้อมูลที่ได้จะนำมาวิเคราะห์ และสังเคราะห์ จนกลายเป็นข้อมูลที่จะสื่อสารออกไปเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม  ของคนภายในองค์กร ซึ่งถ้าคนภายในองค์กรเปลี่ยนพฤติกรรมก็จะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน และสร้างความได้เปรียบ  ในเชิงธุรกิจได้ เพราะตนเชื่อว่าหากมีการจัดการด้านพลังงานที่ดีจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้เปรียบ  เหนือคู่แข่งเมื่อตลาด AEC เปิดขึ้น”

สื่อสาร เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรม

“สมมติโรงแรมแห่งหนึ่งติด Home Automation ไว้ทุกห้อง มีจอติดอยู่ข้างฝาเพื่อบอกว่าใช้ไฟไปเท่าไร  เวลาเข้าพักในโรงแรม ก็จะรู้ทันทีว่าในคืนนั้นสามารถใช้ไฟได้กี่หน่วย ถ้าใช้ไฟเกินก็จ่ายค่าห้องเต็มตามปกติ แต่หากใช้ไม่เกิน   ก็จะได้ส่วนลดค่าห้องไป สิ่งนี้คือ สัญญาณที่จะสื่อสารออกไปให้ลูกค้าได้รับรู้ว่าหนึ่งคืนสามารถใช้ไฟได้กี่หน่วย หากกราฟ  แจ้งเตือน เราก็ต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ใช้ไฟเกินตามที่กำหนดไว้ก็จะก่อให้เกิดพฤติกรรมประหยัดขึ้นทันที”

ดร.เทวารัฐ กล่าวต่อว่า “อันนี้เป็นตัวอย่างของการนำระบบ Data มาใช้สื่อสารเพื่อให้เกิดพฤติกรรมประหยัด  ปัจจุบันกำลังทดลองอยู่ในพื้นที่นำร่อง โดยหาอาสาสมัครที่เป็นโรงแรม/รีสอร์ทที่จะใช้ทดลองระบบ เพราะผมเชื่อว่าสัญญาณหากถูกส่งไปพร้อม Incentive ที่ถูกต้องจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมได้”

ทั้งนี้ การรวมตัวของประชาคมอาเซียน ถือเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ที่พร้อมจะก้าวเดินออกไปทำธุรกิจกับอีก 9 ประเทศ  ซึ่งแต่ละประเทศย่อมมีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องของภาษา เชื้อชาติ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคม  จึงกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะต้องทำความเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าในแต่ละประเทศ  อย่างจริงจัง การสร้าง Brand จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ แล้วการสร้าง Brand ที่ว่าจะต้องทำอย่างไร มีกระบวนการที่ซับซ้อนหรือไม่ มาติดตามกันค่ะ 

กูรู…สอนสร้าง Brand

20323463_mlดร.ศิริกุล  เลากัยกุล Brand Strategist & Sustainability Advisor The Brand Being Consultant Co.,Ltd  เล่าถึงการสร้าง Brand ให้ฟังว่า “คำว่า Brand ในวันนี้มีความหมายใหญ่กว่าการสร้างมูลค่าเพิ่มเพียงอย่างเดียว จริงๆ คำว่า Branding เป็นกระบวนการที่ทำให้เกิดความยั่งยืน เพราะการสร้าง Brand ในยุคนี้ไม่ใช่แค่ว่าจะลุกขึ้นมาทำอย่างไรถึงจะมีข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่ง แต่จะต้องสร้าง Brand ภายใต้ Concept ของความยั่งยืนด้วย ซึ่งคำว่า “คู่แข่ง”        ภายใต้ Concept ของความยั่งยืนนั้น ก็จะกลายมาเป็น “คู่ค้า” แทน

“หากจะพูดถึงเรื่อง Brand ในมุมของ AEC คงต้องพูดในภาพใหญ่ก่อนว่า การสร้าง Brand มีอยู่ด้วยกัน 3 มิติคือ  มิติแรก Asean Brand” เป็นสิ่งแรกที่ทุกประเทศที่เป็นสมาชิกใน AEC ต้องร่วมกันทำ โดยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระดับอาเซียน และหลังจากสร้าง Asean Brand แล้วก็ต้องสร้าง Country Brand” เพราะวันนี้หากพูดถึง AEC  มักมีสองความหมาย ไม่ใช่แค่เป็น One Market Base หรือว่า One market Taste แต่ต้องเป็น One Production Plant หรือ One Production Base ด้วย ในขณะที่ตลาดใหญ่ขึ้น โอกาสก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตลาดจะมีการแชร์ร่วมกันมากขึ้น ถ้าไม่สร้าง Brand  ให้แก่ประเทศต่อไปเวลาพูดว่า เราเป็นไทย หรือว่า From Thailand อาจจะไม่มีประโยชน์อีกต่อไป  ถ้าคุณเป็น OEM ผลิตอาหารอยู่ใน Chain ของ Mark&Spencer อยู่แล้วก็ไม่ต้องอาศัยการสร้างความเป็นเอกเทศว่ามาจากประเทศไหน แต่ถ้ามี Brand เป็นของตนเองเวลาที่จะอ้างอิงประเทศก็จะกลายเป็นเรื่องที่สำคัญ”

OEM มุ่ง Standard

ส่วนมิติสุดท้ายของการสร้าง Brand คือ Business Brand” วิธีการบริหารจัดการ Brand มีอยู่ด้วยกันสองรูปแบบ   นั่นคือ ธุรกิจที่เป็น OEM กับธุรกิจที่เป็น Brand Owner

“ถ้าอยู่ในธุรกิจ OEM ก็ต้องก้าวเข้าสู่คำว่า Standard ให้ได้ เพราะธุรกิจที่เป็น OEM เวลาที่จะก้าวเข้าสู่ AEC คำที่สำคัญคือ คำว่า Standard หากคุณไม่มี Standard คุณก็ไม่ถูกเลือก หรือไม่มีโอกาสเข้าสู่ Chain ใหญ่ได้ แต่การปรับตัว    เข้าสู่คำว่า Standard ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ SMEs ในบ้านเราเพราะบางทีก็ชินกับการทำงานที่เป็น Standard ของเราเอง เพราะฉะนั้นธุรกิจที่เป็น OEM ทั้งหลายจะต้องลุกขึ้นมาสร้างคำว่า Corporate Brand หรือ Brand ขององค์กรให้ได้   และต้องเตรียมความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ Standard อีกทั้งพร้อมรับกับสิ่งใหม่ๆ เพราะพวกที่เป็น Global Brand ก็จะมีโอกาสเข้ามาเลือก Supplier  ที่ประเทศไหนก็ได้ เพื่อให้ไปอยู่ใน Chain ของเขา ถ้า Brand ของเราไม่แข็งแรงในเชิงองค์กร  ไม่ส่งของตามเวลา เวลามีการพัฒนาสูตรใหม่ๆ ก็แอบเอาสูตรไป ใช้เองบ้าง ไม่มีทั้งในเรื่องของ CG, Integrity ก็จะไม่ถูกเลือกให้เข้าไปอยู่ใน Supply Chain แต่ถ้าเราเป็น Brand Owner ก็ต้องยิ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ธุรกิจตนเอง ประเมินดูว่า  เราเก่งพอที่จะออกไปนอกประเทศหรือไม่ หากยังแล้วเราหันมาทำธุรกิจในประเทศเราพร้อมที่จะตั้งรับกับคนอื่นที่จะเข้ามา Share ตลาดกับเราหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการจะต้องตอบตัวเองให้ได้เสียก่อน” 

เน้นสร้าง Brand แบบยั่งยืน

ดร.ศิริกุล กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ก่อนที่ AEC จะเปิดอย่างเป็นทางการ เราต้องมองเห็นภาพใหญ่ก่อนว่า Brand ของเราอยู่จุดไหน หากเราเป็น OEM ก็ต้องลุกขึ้นมาสร้าง Corporate Brand แต่ถ้าเราเป็น Brand Owner ก็ต้องมาดูว่า Business Vision ของเราเป็นอย่างไร เพราะว่าการทำธุรกิจภายใต้คำว่า “ยั่งยืน”  นั้น บางทีเรามองว่ามีโอกาสมากขึ้น แต่คำว่าโอกาส มักมาพร้อมกับคำว่า “ความโลภ” เสมอ ก็จะทำให้ความยั่งยืนหมดไป  ดังนั้น เมื่อไรที่มีโอกาสเข้ามามากขึ้น ให้ใช้คำว่า “พอเพียง” มาตั้งรับกับโอกาสที่เกิดขึ้นได้อย่างสมเหตุสมผล ย่อมจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีความยั่งยืนมากขึ้น”

aec-job1“เวลาที่เอาคำว่า Brand ไปเกี่ยวข้องกับคำว่า AEC คนสร้าง Brand ต้องรู้ว่าจุดที่ไปจะสร้างแต่ผลกำไรเพียง  อย่างเดียวไม่ได้ วันนี้ทุกคนต้องสร้าง Brand อย่างยั่งยืน และคำนึงถึง 3P คือ Profit, People and Planet หากคนสร้าง    Brand ไม่นำทั้ง 3P เหล่านี้มาเป็นองค์ประกอบ อย่าหวังที่จะยั่งยืนได้”

แม้ว่าการเปิด AEC จะถูกเลื่อนออกไปจากเวลาที่กำหนด แต่ผู้ประกอบการไทยก็คงต้องเตรียมความพร้อม   และลับคมให้แก่ธุรกิจของตนอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านเงินทุน แรงงาน และสินค้า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ทุกเวลา ธุรกิจใดที่มีความพร้อมก็จะถือเป็นโอกาสที่จะได้รับประโยชน์อย่างมากมายมหาศาล และเมื่อ AEC เปิด ท่านก็จะสามารถผงาดเป็นผู้นำในตลาด  AEC ได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

 

อ้างอิงที่มา :
– http://rss2.thaichamber.org/upload/P26-36.pdf
– http://incquity.com/articles/intro-aec-1



Writer

โดย อัศนีย์ รัตนโสภณ

นักวิเคราะห์นโยบายและแผน ส่วนกลยุทธ์และแผน
ฝ่ายกลยุทธ์และการตลาด สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ