เห็นข้อเขียนครั้งนี้ของผมแล้วท่านผู้อ่านคงนึกถึง Stephen R. Covey ผู้แต่งหนังสือดังระดับโลก เรื่อง 7 อุปนิสัยพัฒนาสู่ผู้มีประสิทธิผลสูง (The 7 Habits of Highly Effective People) เพราะประโยค“Begin with the end in mind” หรือที่ผมแปลเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า “จงเริ่มต้นที่จุดหมายสุดท้ายในใจตน” เป็น 1 ใน 7 นิสัยที่ดีของคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและการทำงาน
ผมเคยอ่านหนังสือและเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรนี้เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ปรากฎว่าจนทุกวันนี้ก็ยังมีคนพูดถึงเนื้อหาสาระ และเรื่องราวดีๆ จากหนังสือเล่มนี้อยู่โดยถูกนำมาอ้างอิงไว้ในหนังสือ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อสมัยใหม่อยู่เสมอ แสดงว่าสิ่งที่ Covey เขียนไว้เป็นความจริงที่โดนใจกลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้คนที่ต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต
ผมขอยกตัวอย่างการนำหลัก “จงเริ่มต้นที่จุดหมายสุดท้ายในใจตน” มาใช้เมื่อครั้งเริ่มทำงานใหม่ๆ ตอนนั้นผมเริ่มทำงานที่แรก (หลังเรียนจบปริญญาตรี) เป็นเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าที่ธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งด้วยการตั้งคำถามง่ายๆ ว่า “สุดท้ายแล้วผมอยากทำงานอะไร อยากเป็นอะไรกันแน่ ?” คำตอบที่ผมได้คือ “เป็นวิทยากรอิสระตอนอายุ 40 ปี” พอได้คำตอบอย่างนั้นมันทำให้ผมวางแผนชีวิตง่ายขึ้น ทุกอย่างชัดเจนว่าจะทำอะไรก่อนหลังจนบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
จากนั้นผมก็ตั้งใจเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำงานด้านฝึกอบรมในองค์กรเอกชนต่างๆ ประมาณ 5 แห่ง โดยในแต่ละแห่งก็ขออาสาเป็นวิทยากรภายในองค์กรเพื่อฝึกปรือทักษะการสอนเป็นวิทยากรในหัวข้อต่าง ๆ ที่หัวหน้ามอบหมาย จนสะสมเทคนิค เครื่องมือ วิธีการสอนต่าง ๆ มาประยุกต์ดัดแปลงให้เข้ากับสไตล์ของตัวเองจนถึงปัจจุบัน
พอผมอายุได้ 37 ปีเศษ ก็เริ่มวางแผนเตรียมตัวเรียนต่อปริญญาโทด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์กร สอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ผ่าน ได้เข้าเรียนจริงที่นิด้าตอนอายุ 38 ปี ใช้เวลาเรียนประมาณ 2 ปี ก็จบการศึกษาตามตั้งใจตอนอายุประมาณ 41 ปี (เลยเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ไป 1 ปี)
นี่เป็นเพียง หนึ่งตัวอย่างในการใช้นิสัย Begin with the end in mind
จริงๆ ในชีวิตการทำงานผมก็ใช้หลักการนี้เป็นประจำอยู่แล้ว อย่างเช่น ล่าสุดผมเปิดหลักสูตร
“Train-The-Trainer” ให้แก่ผู้ที่สนใจเป็นวิทยากรอาชีพมาเรียน มีผู้สมัครเข้ามาเรียนทั้งหมด 8 คน เรียนกันทั้งหมด 5 วัน ในการฝึกอบรมวันแรกผมถามแต่ละคนว่า “ถ้าเรียนจบแล้วจะไปเป็นวิทยากรสอนหัวข้ออะไร จะเริ่มสอนเมื่อไร”
ลองมาดูคำตอบของลูกศิษย์แต่ละคนกันนะครับ
คนที่ 1 ตอบ….”ผมอยากเป็นวิทยากรสอนหัวข้อการอ่านใจคน ครับ”
คนที่ 2 ตอบ…. “ดิฉันอยากสอนหัวข้อการแก้ปัญหาและตัดสินใจ ค่ะ”
คนที่ 3 ตอบ ….”ผมจะเป็นวิทยากรสอนเรื่อง Logistics ครับ”
คนที่ 4 ตอบ….”หนูอยากเป็นวิทยากรด้านการคิดบวก (Positive Thinking) ค่ะ”
คนที่ 5 ตอบ…”ผมอยากเป็นวิทยากรหัวข้อ Systematic Thinking for Problem Solving & Decision Making ครับ”
คนที่ 6 ตอบ …”หนูอยากเป็นวิทยากรด้านการสร้างภาพลักษณ์ ค่ะ”
คนที่ 7 ตอบ ….”จริงๆ ผมไม่ได้ตั้งใจจะเป็นวิทยากรครับ…แต่ครั้งนี้หัวหน้าผมสั่งให้มาเรียนรู้เฉย ๆ ครับ
คนที่ 8 ตอบ ….”ดิฉันอยากสอนหัวข้อเกี่ยวกับการจัดหน้าร้านขายของสำหรับธุรกิจ SME ค่ะ”
จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่กำหนดเป้าหมายในวันแรกค่อนข้างชัดเจน ขาดแต่เพียงว่าต้องการให้เป้าหมายนี้สำเร็จเมื่อไร เช่น การที่บอกว่าจะเป็นวิทยากรสอนหัวข้อนั้นหัวข้อนี้แล้วจริงๆ ต้องการเป็นวิทยากรเมื่อไร ภายในเดือนไหน ปีไหน จุดหมายสุดท้ายในใจนั้นต้องการให้เกิดขึ้นหรือเป็นจริงเมื่อไร
นอกจากเรื่องการกำหนดเวลาแล้ว ผมก็สังเกตว่าในขณะที่เรียนรู้กันไป 5 วัน มีลูกศิษย์ประมาณครึ่งหนึ่งเปลี่ยนหัวข้อในขณะที่มาฝึกสอน เนื่องจากแต่ละคนต้องทำหน้าที่วิทยากรออกมาสอนในหัวข้อที่ตัวเองสนใจทั้งหมด 5 ครั้ง
มีเพียงครึ่งเดียวที่ยังสอนในหัวข้อเดิม หรือหัวข้อที่เกี่ยวเนื่องกับหัวข้อที่บอกไว้แต่แรก สำหรับคนที่มีการเปลี่ยนแปลงหัวข้อ นั่นก็แสดงว่าเป้าหมายสุดท้ายในใจยังไม่ชัดเจนว่าต้องการอะไร และเมื่อไรกันแน่
ซึ่งจะส่งผลให้คนเหล่านี้อาจจะไม่ประสบความสำเร็จตามที่เขาต้องการ ไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่มีความรู้ หรือไม่มีความสามารถ แต่อาจเป็นเพราะว่ายังไม่ชัดเจนในจุดหมายสุดท้ายที่ต้องการ
เปรียบเหมือนคนเดินทาง ตอนแรกตั้งใจจะขับรถไปเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่กะให้ถึงจุดหมายภายในเวลา 10 ชั่วโมง ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ ขับขึ้นเหนือไปตามถนนพหลโยธินแต่พอถึงสระบุรีกลับเลี้ยวขวามุ่งหน้าไปโคราช แล้วพอถึงโคราชก็ขับขึ้นไปจังหวัดอุดรธานีระหว่างทางก็แวะพักที่โน่นที่นี่ จนลืมไปว่าตัวเองตั้งใจจะไปเชียงใหม่ สุดท้ายกลายเป็นอุดรธานีไปได้
การตั้งคำถามที่ชัดเจนว่าจุดหมายสุดท้ายในใจที่เราต้องการ
คืออะไร จะช่วยให้เราเตรียมตัววางแผนในสิ่งที่ควรทำและ
สอดคล้องกับเป้าหมายที่เราต้องการจริงๆ
ตัวอย่างของลูกศิษย์ที่กำหนดจุดหมายสุดท้ายในใจชัดเจนมากก็มีหลายคน เช่น น้องผู้หญิงคนหนึ่งเรียนอยู่ ม.5 บอกว่าจะเป็นวิทยากรด้านการคิดบวก (Positive Thinking) ตั้งแต่เรียนจบหลักสูตรนี้เป็นต้นไป และแต่ละครั้งที่น้องเขามาฝึก เขาก็จะเตรียมการวางแผนมาสอนหัวข้อ “Positive Thinking” ทุกครั้ง แต่ละครั้งก็จะมีเนื้อหาและวิธีการสอนใหม่ๆ มาฝึกฝนตลอดเวลา เห็นได้ชัดว่าน้องเขาประสบความสำเร็จแน่นอน เพราะเป้าหมายสุดท้ายชัดเจนมาก และก็พยายามเดินไปในทิศทางนั้นอย่างต่อเนื่อง
ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งเป็นคนรุ่นใหม่อายุประมาณ 30 ปี บอกว่าอีก 5 ปีข้างหน้า เขาจะเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือแบบมืออาชีพ น้องคนนี้ตั้งแต่ครั้งแรกจนถึงครั้งสุดท้าย ตั้งใจมาฝึกสอนและให้ผู้เรียนฝึกถ่ายรูปด้วยมือถือทุกครั้ง แต่ละครั้งก็ปรับปรุงพัฒนาฝีมือการสอนไปเรื่อยๆ อย่างนี้ไม่เกิน 5 ปี เขาต้องได้เป็นวิทยากรสอนถ่ายภาพด้วยโทรศัพท์มือถือได้แน่นอน
ท่านผู้อ่านเองก็สามารถจะนำหลัก Begin with the end in mind ไปประยุกต์ใช้ในงานที่ทำอยู่ก็ได้ด้วยการฝึก เช่น ตั้งคำถามก่อนลงมือทำงานแต่ละอย่าง …… เช่น
………. ภายในสิ้นเดือนนี้มีงานอะไรบ้างที่เราต้องทำให้เสร็จบ้าง ?
………. ในการนำเสนองานให้แก่ผู้บริหารสัปดาห์หน้า เราต้องการให้ผู้บริหารรู้สึกอย่างไรกับการนำเสนอของเรา
………. ภายใน 3 เดือนข้างหน้า เราจะต้องรับพนักงานใหม่เข้ามาทำงานให้ได้กี่คน ?
………. ในการให้บริการลูกค้าแต่ละครั้ง เราอยากให้ลูกค้ารู้สึกอย่างไร ?
………. การประชุมครั้งหน้าเราอยากให้บรรยากาศการประชุมเป็นอย่างไร ?
………. ในการจัดงานปีใหม่ปลายปีนี้ ท่านอยากให้พนักงานมีความรู้สึกอย่างไรกับงานนี้ ?
……….. ในการมอบหมายงานลูกน้อง ท่านอยากให้เกิดผลลัพธ์อะไร ?
………. การโค้ช / สอนงาน ลูกน้องครั้งต่อไปท่านอยากให้ลูกน้องทำอะไรได้ดีขึ้น ?
ผมอยากแนะนำให้ผู้อ่านลองนำหลักการหรือนิสัย Begin with the end in mind ไปใช้ดูเพราะการตั้งคำถามที่ชัดเจนว่าจุดหมายสุดท้ายในใจที่เราต้องการคืออะไร จะช่วยให้เราเตรียมตัววางแผน ในสิ่งที่ควรทำและสอดคล้องกับเป้าหมายที่เราต้องการจริงๆ จะได้ไม่เสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่ใช่หรือไม่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญยังช่วยให้เราจัดลำดับความสำคัญว่าควรทำเรื่องอะไรก่อนหลังด้วย
สุดท้ายนี้ผมก็หวังว่าหลักการ “Begin with the end in mind” หรือ “จงเริ่มต้นที่จุดหมายสุดท้ายในใจตน” จะช่วยให้ท่านผู้อ่านทำงาน และใช้ชีวิตได้ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการได้เร็วขึ้นนะครับ