ถ้าพูดถึงรางวัลที่เป็นสุดยอดในโลกวิทยาศาสตร์ทุกคนย่อมต้องคิดถึงโนเบล ไพรซ์
สำหรับวงการกีฬาก็ต้องรางวัลโอลิมปิค ส่วนโลกบันเทิงคิดถึงออสการ์ การบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Management) ก็ต้องเดมมิ่ง ไพรซ์ ส่วนองค์กรที่มีระบบการจัดการที่เป็นเลิศระดับมาตรฐานโลก เราก็มีรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award) ที่ยึดเกณฑ์ตามรางวัลคุณภาพแห่งชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา (Malcolm Baldrige National Quality Award) เป็นเครื่องการันตี
แล้วรางวัลสำหรับเรื่อง KM ล่ะ?
แม้ว่าในประเทศไทย เราจะยังไม่มีรางวัลสำหรับการทำ KM ในระดับประเทศโดยเฉพาะ มีเพียงการให้รางวัลในระดับองค์กรและหน่วยงานภายในเท่านั้น แต่สำหรับวงการ KM ในระดับโลกแล้ว เขามีรางวัลชื่อว่า Most Admired Knowledge Enterprises หรือที่นิยมเรียกกันในชื่อย่อว่า MAKE ซึ่งถือเป็นรางวัลสูงสุดในวงการ KM ที่ตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2541 หรือเมื่อ 17 ปีที่แล้ว โดย Teleos บริษัทวิจัยอิสระชั้นนำด้าน KM ของประเทศอังกฤษ ร่วมกับ KNOW Network ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการทุกปี เพื่อยกย่ององค์กรที่เป็นผู้นำในการตระหนักถึงความสำคัญและสามารถนำความรู้มาสร้างคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์/บริการ การดำเนินงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
กระบวนการคัดสรรที่แตกต่าง
วิธีการคัดเลือกของ MAKE Award แตกต่างจากรางวัลทั่วไปเพราะ ไม่มีการรณรงค์ให้องค์กรต่างๆ สมัครเข้าร่วมการประกวด ไม่มีการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง ไม่มีการเรียกดูข้อมูล ไม่มีการให้เขียนรายงาน เพราะ MAKE Award มีเป้าหมายเพื่อยกย่ององค์กรที่เป็นผู้นำในด้านความรู้ ดังนั้น องค์กรเพียงแค่อยู่เฉยๆ ทำงานกันตามปกติ รอการประกาศผลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ดูเหมือนจะได้รางวัลกันไม่ยาก แต่ที่จริงแล้ว ด้วยคณะกรรมการและวิธีการคัดเลือกทำให้การได้รับรางวัลนี้ยากกว่าวิธีการทั่วไปเสียอีก
คณะกรรมการคัดเลือกของ MAKE Award ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ 2 กลุ่ม ได้แก่
สาเหตุที่ต้องใช้ผู้ทรงคุณวุฒิถึง 2 กลุ่ม เนื่องจากผู้บริหารสามารถมองจุดแข็งจุดอ่อนระดับองค์กรในภาพรวมได้ชัดเจนกว่า ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจะมีความเข้าใจในเรื่องกลยุทธ์ด้านความรู้และ Best Practices ในระดับกระบวนการได้ดีกว่า การผสมผสานระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ 2 กลุ่มทำให้การประเมินครอบคลุมทั้ง 2 มุมมอง
โดยบทบาทของผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 2 กลุ่ม คือ เป็นผู้ร่วมเสนอชื่อและพิจารณาคัดเลือกองค์กรที่คู่ควรกับ MAKE Award นั่นหมายความว่า องค์กรที่ได้รับการเสนอชื่อนั้นต้องมีการดำเนินการด้านความรู้เป็นที่ยอมรับและเป็นที่ประจักษ์ในสายตาผู้ทรงคุณวุฒิ โดยองค์กรไม่มีโอกาสใดๆ ในการส่งข้อมูลหรือเขียนรายงานเพื่อโน้มน้าวใจคณะกรรมการคัดเลือก
สำหรับการคัดเลือกองค์กรที่ได้รับรางวัลจะอิงตามกรอบซึ่งประกอบด้วย 8 มิติ ดังนี้
ในระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา มีองค์กรจากทั่วโลกเพียง 61 แห่งเท่านั้น
ที่ได้รับการยกย่องให้เป็น Global MAKE Winners
มิติดังกล่าวได้มาจากผลการวิจัยที่ Teleos และ KNOW Network ศึกษาในองค์กรระดับโลกมาแล้วว่า เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการดำเนินการด้านความรู้ ที่สะท้อนถึงความเป็นผู้นำขององค์กรในยุคเศรษฐกิจบนฐานความรู้ โดยในแต่ละมิติจะมีคำถามประกอบด้วย 12 กระบวนการหลัก และแต่ละกระบวนการหลักจะแยกเป็นกระบวนการย่อย รวมทั้งหมดราว 150 กระบวนการ เพื่อให้เห็นภาพรวมขององค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้
ในกระบวนการคัดเลือกจะพิจารณาตามกรอบดังกล่าว โดยใช้เทคนิคเดลฟาย¹ ด้วยการให้ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญที่ชำนาญในแต่ละหัวข้อให้คะแนนลงในแบบสอบถามเป็นรายบุคคล 3-4 รอบ เพื่อไม่ให้ตกอยู่ใต้อิทธิพลทางความคิดเห็นของผู้อื่นหรือเสียงส่วนใหญ่ โดยหลังจากจบแต่ละรอบจะนำความคิดเห็นของแต่ละคนมาแชร์ เพื่อเปิดโอกาสให้ได้เรียนรู้ความคิดเห็นของผู้อื่น จากนั้น ผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละคนจึงทำการให้คะแนนใหม่ตามกระบวนการเดิม เพื่อทำให้ผลการตัดสินออกมาอย่างไร้ข้อกังขา
หลังจากผ่านกระบวนการพิจารณาแล้ว MAKE Award จะมีการประกาศผลรางวัลในช่วงปลายปีของทุกปี โดยรางวัลจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่ ระดับโลก (Global MAKE Award) และระดับทวีป (Regional MAKE Award) ซึ่งประกอบด้วยทวีปอเมริกา เอเชีย และยุโรป
องค์กรที่โดดเด่น
ในระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา มีองค์กรจากทั่วโลกเพียง 61 แห่งเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องให้เป็น Global MAKE Winners เท่ากับเฉลี่ยปีละไม่ถึง 4 องค์กร ซึ่งถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก แต่ในจำนวน 61 แห่งนั้นก็มีองค์กรที่ได้รับการยกย่องต่อเนื่องมาตลอด 17 ปีที่มีการตั้งรางวัลขึ้น นั่นคือ บริษัท Accenture และ บริษัท Microsoft นอกจากนี้ ยังมีองค์กรอีก 2 แห่งที่ได้รับรางวัลมาแล้วถึง 16 ครั้ง พลาดไปเพียงครั้งเดียว นั่นคือ บริษัท EY (Ernst & Young) และ บริษัท IBM
สำหรับองค์กรที่ได้รับการยกย่องในปี2557ให้เป็น Global MAKE Winners มีทั้งหมด20แห่งและRegional MAKE Winners 39แห่ง ตามรายชื่อดังต่อไปนี้ (เรียงตามลำดับตัวอักษร)
จะเห็นได้ว่า เกือบครึ่งขององค์กรที่ได้รับรางวัลระดับโลกมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา โดยองค์กรส่วนใหญ่ที่ได้รางวัลมักเป็นองค์กรด้านที่ปรึกษา เทคโนโลยี และการสื่อสาร ซึ่งความรู้เป็นสินทรัพย์หลักที่สำคัญที่สุดในการดำเนินการและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันขององค์กร การตระหนักถึงความสำคัญของความรู้และการบริหารจัดการที่ดีอย่างต่อเนื่องทำให้องค์กรเหล่านี้โดดเด่นและก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีระดับโลก
กระแสในเอเชียที่น่าจับตา
แม้องค์กรจากทวีปเอเชียของเราที่ได้รับรางวัลระดับโลกในปีล่าสุดจะมีเพียง 4 องค์กรเท่านั้น ได้แก่ Infosys Limited (India) Samsung Group (South Korea) Tata Group (India) และ Toyota (Japan) แต่ถ้าเราลองเปรียบเทียบรางวัลในระดับทวีปจะเห็นได้ว่า เอเชียของเรามีชีวิตชีวามากที่สุดเมื่อเทียบกับทวีปอื่น โดยมีองค์กรที่ได้รับรางวัลถึง 20 แห่ง ขณะที่ทวีปอื่นมีเพียง 9-10 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการให้ความสำคัญต่อการจัดการและพัฒนาองค์กรบนฐานความรู้ในทวีปเอเชีย
ประเทศหนึ่งที่ไม่ควรละสายตา คือ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศเพื่อนบ้านของเราที่ล่าสุดได้รับรางวัล Asian MAKE Award ถึง 4 องค์กร โดยตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 – 2556 มีองค์กรจากประเทศอินโดนีเซียที่ได้รางวัล จำนวน 1, 2, 3, 2 และ 4 แห่ง ตามลำดับ แม้จะยังเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นประเทศม้ามืดที่น่าสนใจ เพราะปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียให้ความสำคัญต่อการทำ KM เป็นอย่างมาก มีการตั้งรางวัล Indonesian MAKE Award ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2548 เพื่อให้องค์กรต่างๆ ใช้ในการเทียบเคียง (Benchmark) กับองค์กรระดับ World-class ทั่วโลก รวมทั้งกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้นำองค์กรเกิดการพัฒนาทุนทางปัญญา และสร้างคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
นอกจากประเทศอินโดนีเซียแล้ว ปัจจุบันประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง และอิหร่าน ยังให้ความสำคัญต่อรางวัล MAKE เป็นอย่างมาก มีการจับมือเป็นคู่ความร่วมมือ (Partners) กับ MAKE เพื่อส่งเสริมการจัดการความรู้ในประเทศของตนเอง ซึ่งผู้ชนะ 3 อันดับแรกในแต่ละประเทศสมาชิกจะถูกเสนอชื่อเข้าในรอบ Finalist ของทวีปตนเองโดยอัตโนมัติ สำหรับบางประเทศอย่างเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น แม้จะไม่มีการตกลงเป็นคู่ความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการนำ Framework และวิธีการประเมินของ MAKE ไปประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลาย
ส่วนองค์กรในประเทศไทย ถึงแม้ว่าประเทศเรายังไม่เคยมีองค์กรใดที่ได้รับรางวัล แต่ใน 5 ปีที่ผ่านมา เรามีองค์กร 2 แห่งที่ได้เข้าถึงรอบสุดท้ายของการคัดเลือกในระดับทวีปเอเชีย นั่นก็คือ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อปีพ.ศ. 2553 และล่าสุด คือ สายงานระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เมื่อปีพ.ศ. 2555
ข้อมูลอ้างอิง : The KNOW Network. Most Admired Knowledge Enterprises. URL: http://www.knowledgebusiness.com
¹ เทคนิคเดลฟาย (Delphi Technique) เป็นกระบวนการรวบรวมความคิดเห็นในเรื่องใดๆ จากกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และมีความถูกต้องน่าเชื่อถือมากที่สุด เพื่อดูแนวโน้มหรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่ต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญมาประชุมร่วมกัน แต่ให้แต่ละคนแสดงความคิดเห็นในรูปของการตอบแบบสอบถาม ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ และสามารถรวบรวมความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญในสถานที่และเวลาที่แตกต่างกันโดยไม่มีข้อจำกัด