26 มีนาคม 2015

สวัสดีปีแพะครับท่านผู้อ่านที่เคารพรัก      ปีแพะอาจจะเป็นปีใหม่ที่โลดโผนโจนทะยานมากกว่าปีม้าที่ผ่านไป เพราะความผันผวนทางเศรษฐกิจและการเมืองภายนอกยังคงวุ่นวายทั้งเศรษฐกิจในยุโรปและญี่ปุ่นที่ยังไม่สดใส ปัญหาการรบทางเศรษฐกิจระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร โดยใช้น้ำมันเป็นอาวุธหลักในการโจมตีรัสเซีย เราจึงเห็นราคาน้ำมันลดต่ำลงเรื่อยๆ รัสเซียที่มีรายได้หลักจากการขายน้ำมันจึงเจ็บหนักในเวลานี้     ส่วนปัญหาเศรษฐกิจในประเทศก็อย่างที่ทราบกันว่า เครื่องจักรที่นำเงินเข้าประเทศ เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว ยังเดินไม่เต็มที่ สินค้าเกษตรราคาไม่ดี เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจของคนระดับล่างจึงไม่ดีไม่ค่อยมีเงินพอใช้จ่ายกับค่าครองชีพที่ขึ้นราคาแล้วลงไม่เป็น ภาครัฐคงต้องเร่งอัดฉีดเงินงบประมาณใช้จ่ายผ่านโครงการต่างๆโดยเร็วให้เงินมันหมุนหลายๆรอบ      หวังว่าคงไม่มีปัญหาการเมืองมาแทรกซ้อนเพิ่มเติมนะครับ

ผมว่ามาซะยืดยาวก็เพื่อให้ท่านเตรียมพร้อมรับมือกับปัจจัยภายนอกที่ท่านควบคุมไม่ได้ หลีกเลี่ยงลำบาก แต่สามารถวางกลยุทธ์ให้เหมาะสมเพื่อบรรเทาผลกระทบหรืออาจโชคดีใช้เป็นจังหวะในการรุกสร้างธุรกิจใหม่ๆ  สำหรับกิจการเล็กๆคงต้องอาศัยการรู้จักใช้ทรัพยากรหรือเครือข่ายภายนอกในการปรับตัว เพราะลำพังช่วยตนเองให้รอดก็หนักหนาพอสมควร   แม้แต่เจ้าพ่อเศรษฐกิจระดับประเทศ อย่างเจ้าสัว ธนินทร์ เจียรวนนท์ยังกล่าวไว้หลายครั้งในหลายโอกาส หลายสถานที่ว่า

“สิ่งที่อันตรายที่สุดคือ…คนที่ไม่ฟังคนอื่น”

“ในโลกนี้มีสิ่งที่น่ารับรู้มากมาย จนยากที่จะรับรู้ได้หมด ผมจึงเปรียบตัวเองเหมือน น้ำ ที่ยังไม่เต็มขวด” เพราะฉะนั้นเราต้องพยายามหาความรู้จากคนอื่นเสมอ ผมเชื่อว่าการฟังคนเก่งๆพูด เท่ากับเราอ่านหนังสือ 1 เล่ม วันหนึ่งผมฟังคน 10 คน ก็เท่ากับอ่านหนังสือ 10 เล่ม แล้วคุณคิดหรือว่า คนเก่งๆเหล่านี้จะเล่าเรื่องให้ผมฟังเพียงเรื่องเดียว     ธุรกิจขนาดเล็กหนีไม่พ้นที่ต้องพัฒนาตัวเอง เรามักจะล้อเล่นกันเองว่าผู้ประกอบไทยไม่เก่งหรือไม่ให้ความสนใจเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D: Research & Development) แต่ถนัดในเรื่อง ลอกเลียนแบบแล้วพัฒนา (C&D: Copy & Development) ซึ่งบางคนบอกว่าเป็นการต่อยอด ทำให้ฟังแล้วดูดีขึ้นหน่อย ธุรกิจหลายอย่างของเจ้าพ่อเครื่องดื่มชาเขียวก็เป็นมาในลักษณะนี้

ไม่มีอะไรผิด หรือ ไม่ใช่เป็นเรื่องน่าอาย ถ้าประสบความสำเร็จ   ในความเป็นจริงเราต้องทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน หากทำเองไม่ได้ต้องเปลี่ยน C&D จาก Copy & Development เป็น Connect & Development นักการตลาดหรือนักธุรกิจเก่งๆรู้จักสร้างเครือข่ายแล้วนำงานวิจัยหรือเรื่องที่คนอื่นคิดไว้มาพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจ  ท่านต้องทำตัวเป็นอย่างที่เจ้าสัวธนินทร์แนะนำคือต้องทำตัวเป็น “น้ำ” ไม่เต็มขวด เปิดรับฟังความเห็นความคิดจากผู้อื่น

ผมอยากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพระหว่างคนที่มุ่งพัฒนาอะไรด้วยตนเองกับคนที่เปิดรับการพัฒนาจากภายนอกดังนี้

คนที่ปิดรับการพัฒนาจากภายนอกจะเชื่อว่า

ต้องพัฒนาสร้างคนที่เก่งฉลาดให้อยู่ทำงานกับองค์กรนานที่สุด
ต้องพัฒนาสินค้าหรือบริการให้ดีที่สุดในอุตสาหกรรมเพื่อชนะการแข่งขัน
ต้องควบคุมป้องกันไม่ให้งานวิจัยพัฒนาไปสู่คู่แข่งขัน
กำไรของกิจการเกิดจากการค้นพบ พัฒนา แล้วทำการตลาดสู่ลูกค้า

คนที่เปิดรับการพัฒนาจากภายนอกจะเชื่อว่า

ต้องทำงานร่วมกับคนเก่งๆฉลาดๆทั้งภายในและภายนอกองค์กร
ต้องดำเนินการให้ดีที่สุดจากงานวิจัยและพัฒนาทั้งจากภายในและภายนอกองค์กรเพื่อชนะการแข่งขัน
ไม่จำเป็นต้องคิดค้นพัฒนาตามลำพังเพื่อชนะการแข่งขัน
ต้องรู้จักหาประโยชน์หรือขายงานวิจัยพัฒนาของตนเองหากทำกำไรได้มากกว่า ในทำนองเดียวกันต้องกล้าซื้องานวิจัยพัฒนาจากภายนอกหากเห็นว่าสามารถทำกำไรได้มากกว่าทำด้วยตนเอง
กำไรของกิจการเกิดจากการพัฒนาด้วยตนเองและงานวิจัยพัฒนาจากภายนอก

ผมเชื่อว่าทุกท่านคงมองเห็นหนทางประสบความสำเร็จมากกว่าหากเลือกที่จะเปิดรับการคิดค้นพัฒนา

จากภายนอกท่านต้องมีกลยุทธ์หรือรูปแบบการทำธุรกิจแบบ Outside –In คือท่านต้องมีคนหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบในการประสานงานหรือทำงานร่วมกับองค์กรความรู้ภายนอก เช่น  สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัยของรัฐและเอกชน เปิดกว้างทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกันและต่างอุตสาหกรรม   หรือจ้างที่ปรึกษาภายนอกทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อม หรือท่านให้ทุนแก่ผู้ทำงานวิจัยภายนอก    ปัจจุบันมีช่องทางในการสื่อสารมากกมายที่รวดเร็วและราคาถูก เช่น อินเทอร์เน็ต   บริษัท Innocentive เป็นตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จในการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ต้องการซื้องานวิจัยพัฒนาและผู้ที่ต้องการขายงานวิจัยและพัฒนา

แน่นอนการซื้องานวิจัยและพัฒนาจากภายนอกท่านต้องมีค่าใช้จ่ายในการซื้อและต้องมีทรัพยากรภายในองค์กรที่พร้อมสำหรับการนำงานวิจัยและพัฒนามาต่อยอดให้เกิดผลลัพธ์ทางธุรกิจที่พอใจ อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายนี้น่าจะน้อยกว่าและใช้เวลาน้อยกว่าการลงทุนคิดค้นพัฒนาด้วยตนเอง โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจที่กำลังซื้อไม่ค่อยดี คนที่ไวกว่าย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า   ปัจจัยสำคัญในการซื้องานวิจัยและพัฒนามาต่อยอดคือท่านต้องมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่จะใช้กับงานวิจัยพัฒนาที่สุดยอดนี้

นอกจากนี้  ท่านต้องมีช่องทางจำหน่าย และความสัมพันธ์กับเครือข่ายร้านresearchค้า ลูกค้าที่ครอบคลุม เพื่อที่จะได้รับผลตอบแทนคืนทุนและได้กำไรในเวลาไม่นานนักหลังจากวางตลาดสินค้าหรือบริการที่ได้จากงานวิจัยพัฒนาจากภายนอก

สัจธรรมของการทำธุรกิจ คือ ท่านหนีการลอกเลียนแบบและพัฒนาไม่พ้น เพราะฉะนั้นการตลาดสำหรับสินค้าหรือบริการที่มีนวัตกรรมดีๆจึงต้องเร็วและแรง   หากท่านที่ชอบการวิจัยพัฒนาแต่ไม่เก่งพอในด้านการตลาดที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ท่านก็ต้องรู้จักที่จะขายงานวิจัยพัฒนานั้น หรือ ร่วมมือกับคนอื่นในการทำการตลาดงานวิจัยพัฒนานั้นให้เกิดดอกผลทางธุรกิจ   ธุรกิจในกลุ่มซีพี เป็นตัวอย่างที่ดีในการซื้อ หรือร่วมลงทุนกับเจ้าของงานวิจัยพัฒนาทางต่างประเทศแล้วก็ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่าย ร้านสะดวกซื้อ 7-11 เครือข่ายโทรคมนาคมที่ตอนเริ่มต้นร่วมมือกับ Orange แล้วพัฒนาต่อยอดมาเป็นแบรนด์ของตนเอง “True” ในที่สุด    อย่างไรก็ดี  ธุรกิจที่กลุ่มซีพีพัฒนาเองแต่ไม่ประสบความสำเร็จก็มี  เช่น เครือข่ายร้านอาหารอินเตอร์สุกี้ หรือเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันปิโตรเอเซีย

การทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต้องรู้จักจังหวะ หนัก-เบา รุก-รับ นักธุรกิจที่เก่งๆหลายคนประสบความสำเร็จจากการเป็นนักการตลาดที่มองเห็นโอกาสทำเงินจากสิ่งที่คนอื่นคิดค้นวิจัยพัฒนา   เลือกเอาครับว่าท่านถนัดที่จะเดินทางสายไหน ทำเองทุกอย่าง หรือ ทำร่วมกับคนอื่น
ภาพจาก : http://www.weprintdiscs.com/blog/wp-content/uploads/2014/01/research.jpg




Writer

โดย ดร.เกษม พิพัฒน์เสรีธรรม

วิทยากรที่ปรึกษาอิสระ : จบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านการตลาดและปริญญาเอกด้านการศึกษาทางไกลผ่านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต (E-learning Methodology) มีประสบการณ์ด้านบริหารงาน ด้านการวางแผนกลยุทธ์และการตลาดในบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการค้าระหว่างประเทศ การจับคู่ธุรกิจและสร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ ตลอดทั้งการวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาด