ในปัจจุบันที่ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มจะหันมาให้ความสนใจหรือ “อิน” ไปกับกระแสเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เราจึงไม่อาจจะปฏิเสธได้เลยครับว่าประเด็นเรื่องของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของธุรกิจหนึ่งๆหรือที่เรียกว่าเป็นการทำธุรกิจ “สีเขียว” กลายมาเป็นอีกปัจจัยที่ลูกค้าให้ความสำคัญมากขึ้นและจะนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อตัดสินใจว่าจะเลือกอุดหนุนสินค้าและบริการของแต่ละบริษัทไปด้วย อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงเรื่องของการดำเนินธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้ประกอบการหลายๆท่านก็มักจะนึกไปถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่างๆที่จะนำไปสู่ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ต้องมีการลงทุนเป็นเงินจำนวนสูงมากในเครื่องจักรใหม่ที่มีอัตราการสิ้นเปลืองพลังงานน้อย เป็นต้น และในบางกรณี กิจกรรมเหล่านี้ต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนที่สูงมากจนทำให้จุดคุ้มทุนอยู่ไกลออกไปพอควร เรียกได้ว่ากว่าธุรกิจจะเป็นสี “เขียว” ตัวเลขก็เป็นสี “แดง” กันไปพักใหญ่ๆเลยทีเดียว ซึ่งผู้ประกอบการหลายๆ ท่านอาจจะไม่ต้องการลงทุนสูงตั้งแต่แรกหรือไม่สามารถรับความเสี่ยงได้มากมายขนาดนั้น แต่เชื่อเถอะครับว่านี่ก็ไม่ใช่วิธีเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ธุรกิจเราได้ชื่อว่า “ เป็นธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หรือ “ธุรกิจสีเขียว” หรอกครับ
อีกวิธีหนึ่งที่ง่ายกว่าแล้วก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพิ่มเติมมากนัก นั่นก็คือการกลับไปดูขั้นตอนการทำงาน (Process Map) และหาทางขจัดหรือควบคุมไม่ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างไม่เหมาะสมในระหว่างขั้นตอนการทำงานนั่นเองครับ หรือว่าง่ายๆก็คือการหาทาง “ประหยัด” ทรัพยากรต่างๆที่เราใช้ เพื่อให้แน่ใจว่าเราใช้มันในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไปจนไปเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมนั่นเองครับ และแน่นอนครับว่ายิ่งเราควบคุมจุดนี้ได้ดีเท่าไร นอกจากเราจะสามารถพูดได้เต็มปากว่าธุรกิจของเรานั้นเป็นธุรกิจที่ “เขียว” ขึ้น ก็ยังช่วยส่งผลให้ต้นทุนรวมของเราต่ำลงจนทำให้สามารถแข่งขันได้อย่างไม่เป็นรองใครด้วยครับ และเมื่อพูดถึงเรื่องของการขจัดหรือควบคุมไม่ให้เกิดการใช้ทรัพยากรไปอย่างไม่เหมาะสมแล้ว ผมคิดว่าทฤษฎีหนึ่งที่เหมาะมากที่จะนำมาเป็นเครื่องมือในการสแกนธุรกิจเพื่อวิเคราะห์หาจุดที่จะสามารถลดความสิ้นเปลืองได้ ก็คือเรื่องของ MUDA หรือ The Seven Wastes ที่ผมได้เคยนำมาคุยกับผู้อ่านทุกท่านในบทความครั้งก่อนนั่นเอง ถึงตรงนี้ผู้อ่านบางท่านอาจสงสัยว่าแล้วไอ้ความสิ้นเปลืองต่างๆ นี่มันมาเกี่ยวอะไรด้วย มันเกี่ยวโดยตรงเลยล่ะครับ เพราะสมการง่ายๆ ของธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จและพัฒนาให้สามารถแข่งขันได้ดีขึ้นนั่น ก็คือ
สามารถลดความสิ้นเปลืองที่เกิดขึ้น => ลดต้นทุนรวมในการผลิต => ผลกำไรที่เพิ่มขึ้น
มาถึงตรงนี้ เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นผมจะขอยกตัวอย่างมาประกอบสักหน่อยแล้วกันนะครับ สมมติว่าผมเป็นเจ้าของโรงงานขนาดเล็กซึ่งผลิตเสื้อยืดย้อมสีขายที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังให้ลงทุนมากมายนัก ดังนั้น หากผมต้องการจะพัฒนาให้ธุรกิจของผมเป็นธุรกิจที่สี “เขียว” ขึ้น สิ่งแรกที่ผมจะทำก็คงเป็นการกลับมานั่งพิจารณาขั้นตอนการผลิตปัจจุบันของโรงงานก่อนครับ เพื่อเจาะหาจุดที่เป็นจุดสิ้นเปลืองที่ต้องหาทางขจัดออกไปให้ได้ โดยจุดสิ้นเปลืองเหล่านี้อาจจะอยู่ในหมวดหมู่ต่างๆ ตามทฤษฎี Seven Wastes อาทิ
• ผมไปเจอสินค้าคงคลังของเสื้อยืดบางสี บางขนาดที่มีเหลือมากเกินความต้องการซึ่งถือเป็น ความสิ้นเปลืองที่เกิดจากการผลิตจำนวนมากเกินไป ซึ่งอาจจะเกิดจากการคาดการณ์ยอดขายที่ผิดพลาด ดังนั้น วิธีที่จะช่วยลดความสิ้นเปลืองเหล่านี้ก็คงเป็นเรื่องของการหาวิธีปรับปรุงวิธีการคาดการณ์ต่างๆ รวมถึงข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบการคาดการณ์ให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มความแม่นยำให้มากขึ้นนั่นเอง
• การไปส่งสินค้าแบบที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนักในบางเที่ยว เช่น ไปส่งแบบไม่เต็มคันรถ มีที่เหลือในรถขนส่งอีกมากจากการวางแผนการส่งที่ไม่ดี ไปส่งผิดที่ หรือเกิดสินค้าเสียหายระหว่างการขนส่ง ซึ่งถือเป็น ความสิ้นเปลืองที่เกิดจากการขนส่ง นั่นเองครับ วิธีที่ดีที่สุดก็คือ เราต้องวางแผนการขนส่งต่างๆ ในธุรกิจให้ดี และควรจะคิดหาวิธีลดการขนส่งที่ไม่จำเป็นออกไปอยู่เสมอ เช่น การจัดเก็บของที่ต้องใช้ให้อยู่ใกล้กับจุดที่ใช้งานจริง เป็นต้น ในหลายกรณี ต้องบอกเลยนะครับความสิ้นเปลืองประเภทนี้นี้ถือเป็นจุดอ่อนของหลายๆบริษัทเลยทีเดียว เพราะต้นทุนการขนส่งในบางธุรกิจนั้นมักจะสูงไม่น้อย
• การมีจำนวนเสื้อยืดที่เย็บหรือย้อมเสีย มีตำหนิ หรือผิดสเปคจำนวนมากอันถือว่าเป็น ความสิ้นเปลืองที่เกิดจากผลผลิตที่ผิดพลาด/เสีย ซึ่งการจะขจัดหรือควบคุมความสิ้นเปลืองเหล่านี้ให้ดีที่สุด ก็คือการหมั่นตรวจสภาพเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ในการทำงานให้อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์อยู่เสมอเพื่อลดโอกาสที่สินค้าที่ผลิตออกมาจะเสีย นอกจากนี้ การจัดให้มีขั้นตอนของการเช็คสเปคเสื้อในขั้นตอนต่างๆ ระหว่างการผลิตก่อนที่การผลิตจะเสร็จสมบูรณ์ก็สามารถลดโอกาสที่จะเกิดข้อผิดพลาดและสามารถแก้ไขได้ทันท่วงทีก่อนถึงปลายทางได้ด้วยเช่นกัน
เป็นอย่างไรบ้างครับ สำหรับอีกหนึ่งวิธีง่ายๆ ที่จะเปลี่ยนธุรกิจของเราให้เป็นธุรกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยใช้วิธีลดความสิ้นเปลืองที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการผลิตแทน น่าสนใจไม่น้อยเลยนะครับ หลายๆเรื่องผมว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนและทำได้ไม่ยากเลย ซึ่งถ้าหากเราสามารถขจัดความสิ้นเปลืองเหล่านี้ไปได้ล่ะก็ ไม่เพียงแต่ทำให้ธุรกิจเราเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เรายังได้ประโยชน์จากต้นทุนรวมที่ค่อยๆ ลดลงเป็นผลพลอยได้อีกด้วย คราวนี้ล่ะครับเรียกว่า “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” เลยครับ