ศีลข้อที่สอง อทินทานา เวรมณี
ศีลข้อนี้เป็นเจตนาที่จะงดเว้นการถือเอาทรัพย์สินที่เจ้าของไม่ได้ให้ ของใดก็ตามที่เจ้าของหวงแหน ไม่หน่วงเหนี่ยวมาเป็นของตนด้วยกลอุบายใดๆ ด้วยมีปัญญาที่เข้าใจว่าผู้สร้างงานย่อมต้องใช้ความรู้ความสามารถทุ่มเทในการทำงาน การที่ผลงานของตนถูกผู้ที่เหนือกว่านำไปเป็นผลงานโดยไม่ยกย่องชมเชยหรือแบ่งปันความสำเร็จย่อมทำให้เจ้าของผลงานเจ็บใจได้ ถึงแม้การละเมิดศีลข้อนี้อาจจะเห็นไม่ชัดเจนนักในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล จุดสำคัญคือการยอมรับและประเมินให้ความดีความชอบตามผลงานของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยความยุติธรรม หรือภาษาบ้านๆ ที่บอกว่าไม่ขโมยผลงานลูกน้องหรือคนอื่นมาเป็นของตนเอง รวมถึงการสร้างหลักฐานปลอมเพื่อใช้อ้างอิงผลงาน ดังนั้นการพัฒนาระบบประเมินผลการปฏิบัติงานให้มีความยุติธรรมและโปร่งใสจะช่วยลดโอกาสการผิดศีลในข้อนี้ อย่างไรก็ดีผู้บริหารที่ผิดศีลข้อที่สองจะนำไปสู่การบ่อนทำลายชื่อเสียงของตนเองที่สะสมมาตลอดชีวิตการทำงานหากเคราะห์ร้ายมีการตรวจสอบเรื่องการทุจริต ถึงแม้ตรวจสอบไม่พบก็จะกลายเป็นชื่อเสียในหมู่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือผู้ที่ร่วมงาน รวมถึงเสียสมาธิในการทำงานเนื่องจากส่วนหนึ่งต้องใช้ไปกับการระมัดระวังว่าจะถูกผู้อื่นหักหลังเข้าบ้าง มีความไม่ไว้วางใจในผู้อื่นว่าจะเปิดเผยความลับของตน
ศีลข้อที่สาม กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี
ศีลข้อนี้เป็นเจตนาที่จะงดเว้นการประพฤติผิดในกาม เป็นเจตนาที่จะไม่ทำผิดในเรื่องเพศทั้งกาย วาจา ใจ ซึ่งการจะพิจารณาว่าบุคคลใดได้ทำผิดศีลหรือไม่จะพิจารณาที่ประเภทของบุคคลที่ไม่ควรเข้าไปมีสัมพันธ์ทางเพศด้วย หรือจัดเป็น “บุคคลต้องห้าม” ถ้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวแล้วจะมีผลให้เกิดความเสื่อม ได้แก่ (1) หญิงที่มีผู้รักษา มีผู้ปกครอง คุ้มครองดูแล หรือหวงแหนอยู่ด้วยความรักความเมตตา เช่น มารดาบิดา ญาติ เชื้อชาติ รวมถึงหญิงผู้มีธรรมรักษา (2) หญิงที่จารีตห้าม ได้แก่ หญิงที่เป็นสายเลือดใกล้ชิด และหญิงที่อยู่ในเพศพรหมจรรย์ (3) หญิงที่มีสามีทั้งพฤตินัยและนิตินัย หญิงกลุ่มนี้ยังรวมไปถึงหญิงที่เป็นลูกจ้างของชายต่อมาได้กลายเป็นภรรยาของเจ้านายในระหว่างที่เธอยังเป็นภรรยาของใครบางคนไม่ว่าจะสมยอมหรือไม่ก็ตาม หรือหญิงที่ยอมเป็นภรรยาเพราะหวังทรัพย์สิน เครื่องนุ่งห่ม หรือความสะดวกสบายต่างๆ ทั้งที่ยังเป็นภรรยาคนอื่นอยู่
เหตุที่การล่วงละเมิดศีลข้อสามนี้เป็นบาปเพราะถือเป็นการเบียดเบียนใจทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย หญิงที่ล่วงละเมิดไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพใดก็ตาม ในกรณีของผู้บังคับบัญชาที่ฉวยโอกาสใช้ประสบการณ์ชีวิตที่โชกโชนหลอกล่อหญิงสาวที่มีประสบการณ์น้อย หลงเชื่อผู้อื่นได้ง่าย ก็เป็นบาปที่หนักยิ่งขึ้นไปอีก ในกรณีของนายหญิงที่ล่วงละเมิดทางเพศกับลูกน้องชายที่มีครอบครัวแล้ว โดยมีเจตนาแย่งชิงเขามาก็จะถือเป็นการผิดศีลข้อที่สองที่เบียดเบียนของรักหรือทรัพย์สินของผู้อื่นโดยที่เจ้าของไม่เต็มใจ อย่างไรก็ตามคำสอนเดิมมุ่งหมายที่กลุ่มสงฆ์เป็นหลัก แต่ในปัจจุบันเราก็อาจต้องยอมรับว่าเพศชายก็สามารถตกอยู่ในภาวะเสี่ยงของการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ได้เช่นเดียวกับผู้หญิงซึ่งก็คงต้องกลับไปดูที่เจตนาต้นทางของการกระทำ
ผู้บริหารที่วางตัวเป็นสมภารกินไก่วัดหรือพูดจาแทะโลมให้ลูกน้องผู้หญิงเกิดความอับอายย่อมถือเป็นการไม่สำคัญทั้งสิ้น และจะยิ่งเป็นบาปเมื่อข่มขู่บังคับโดยอ้างถึงอำนาจในการให้คุณให้โทษ ความก้าวหน้าในอาชีพทำให้ผู้หญิงต้องตัดสินใจแบบยอมจำนน โดยเฉพาะในสังคมไทยเมื่อเกิดประเด็นชู้สาวขึ้นมาฝ่ายหญิงมักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบไม่ว่าจะในกรณีใดๆ ก็ตาม ถึงแม้บทลงโทษผู้บริหารในเรื่องนี้มีปรากฏอยู่น้อยมากทั้งในกฎหมายไทยและกฎระเบียบของบริษัท แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีการอัดคลิปวิดีโอก็อาจเป็นการประจานพฤติกรรมที่เสื่อมเสียของผู้บริหารให้ได้อายกันไปอีกนาน เพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องสนุกปากของชาวบ้านมากที่สุดในบรรดาศีลห้าข้อ
ศีลข้อที่สี่ มุสาวาทา เวรมณี
ศีลข้อนี้เป็นเจตนาที่จะงดเว้นการแสดงคำเท็จไม่จริง ขอบเขตของศีลข้อนี้ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะการพูดเท่านั้นแต่ยังรวมถึงการใช้อวัยวะใดของร่างกายสื่อความให้ผู้อื่นเข้าใจผิดไปจากความจริง เช่น การเขียน ภาษากาย ภาษาสัญญาณ รวมถึงการกล่าวเท็จในทางอ้อมได้แก่ การพูดเสียดแทง กระทบกระแทกแดกดัน การพูดประชด การพูดด่า การพูดหยาบคาย การพูดคะนองวาจา การพูดสับปลับ การรับคำผู้อื่นไว้เป็นมั่นเหมาะแต่ภายหลังกลับใจไม่ทำตามที่รับคำนั้น การให้สัตย์ปฏิญาณไว้แต่ไม่ปฏิบัติตาม และการรับปากไว้แต่กลับใจคืนคำไม่ทำตามที่รับปาก
“คำพูด” เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญต่อการบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นอย่างยิ่งทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพราะการทำบทบาทดูแล ปกครอง มอบหมาย กำกับตรวจสอบ ประเมินผล และสอนงาน ต่างเป็นงานบริหารที่ต้องใช้คำพูดเป็นพื้นฐานการสื่อสารทั้งสิ้น หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ ได้เขียนอธิบายเกี่ยวกับศีลข้อที่สี่ได้น่าสนใจว่า “คำพูดเป็นสื่อที่บอบบาง ต้องระวังเป็นพิเศษ อย่าพูดด้วยมานะทิฏฐิ ว่าเราดีกว่าเขา เรามีฐานะมั่นคงกว่าเขา เรารู้ดีกว่าเขา เรามีตำแหน่งหน้าที่การงานดีกว่าเขา เรามีชาติตระกูลดีกว่าเขา เราเป็นผู้บังคับบัญชาเขา อยากพูดอย่างไรก็พูดไปตามชอบใจ อยากพูดดุด่าอย่างไรกับใคร ก็ใช้อำนาจของตัวเองพูดไปโดยไม่เกรงกลัวต่อใครทั้งสิ้น โบราณว่า “เท้าช้างเหยียบปากนก” ก็เป็นในลักษณะนี้ นี่เรียกว่าคนหลงในมานะทิฏฐิของตัวเอง ถึงผู้น้อยเขาไม่มีโอกาสตอบโต้ก็ตาม แต่อย่าลืมว่าผู้น้อยก็มีหัวใจที่เต็มไปด้วยกิเลสเหมือนกัน มีความโกรธ มีความเกลียดผู้ใหญ่ได้เหมือนกัน
แม้เคยแสดงกริยาในความรักความเคารพต่อกันและเชื่อถือต่อกันมายาวนานก็ตาม ความรู้สึกทั้งหมดนี้ก็หมดสภาพไป ถึงจะมีภาระหน้าที่พูดคุยกัน ก็ไม่สนิทสนมเหมือนที่เคยเป็นมา ถึงจะมีกริยาออกมาในทางที่ดีต่อกันอยู่ก็ตาม แต่ส่วนตัว อกิริยาที่เจ็บใจฝังลึกๆในความรู้สึกนั้นยังมีอยู่ สักวันหนึ่งก็จะหาช่องทางระบายอารมณ์แห่งความแค้นนี้ออกไปให้ได้ จะเพ่งเล็งหาจุดอ่อนซึ่งกันและกันออกมาตอบโต้กัน ถ้าพูดต่อหน้าไม่ได้ก็ต้องพูดลับหลัง…ในที่สุดก็กลายเป็นความพยาบาทอาฆาตจองเวรต่อกันไปไม่มีที่สิ้นสุด”
ผู้อ่านอาจมีความอึดอัดใจว่าแล้วผู้บริหารจะพูดอะไรได้บ้าง เพราะการใช้คำพูดเหมือนงานศิลปะ เพราะคำพูดที่ตรงเกินไปย่อมอาจเป็นอาวุธทำลายน้ำใจคนได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการให้ภาพสะท้อนผลงาน (Giving Feedback) ในช่วงการประเมินผลงาน ดังนั้นจึงกรณียกเว้นการใช้คำพูดที่ไม่เป็นมุสาวาทาในลักษณะต่อไปนี้
- ถ้าเป็นคำกล่าวที่เขาใช้กันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ ใช้กันจนเป็นความเคยชิน หรือเป็นโวหารทางโลก การแสดงคำนั้นถือว่าไม่จัดเป็นมุสาวาทา
- ถ้าเล่านิทาน นิยาย หรือเรื่องแต่งต่างๆ ตามที่ได้ดูได้ยินมา แม้เรื่องนั้นจะไม่จริง การเล่าก็ไม่ได้ชื่อว่าเป็นมุสาวาทา
- ถ้าสำคัญผิด พูดด้วยความเข้าใจผิด แต่คิดว่าเข้าใจถูก อาจเป็นการได้ยินเรื่องราวต่างๆ แล้วนำมาถ่ายทอดต่อตามที่จำได้ แต่เนื่องจากจำผิดจึงบอกเรื่องไม่จริงออกไป เพราะเจตนาไม่มีการแสดง จึงไม่เข้าข่ายเป็นมุสาวาทา ข้อนี้รวมถึงการบอกข้อมูลผิดเนื่องจากความเข้าใจผิดด้วย
- ถ้าพลั้งปากพูดหรือพูดด้วยความเคยปาก (พลั้งปาก เป็นอาการลืมตัวพลั้งเผลอตามจริตหรือความเคยชินของผู้พูดต่างกับการ “คะนองปาก” ที่มีเจตนาจะพูด)
ผู้บริหารที่ตระหนักดีถึงคุณและโทษของคำพูด ย่อมพิจารณาเลือกใช้คำพูดในการแสดงออกถึงอารมณ์และข้อเท็จจริงได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์โดยตั้งวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนว่าต้องการผลลัพธ์เพื่ออะไร เช่น เพื่อสร้างสัมพันธภาพ ชี้แจงข้อมูล ส่งสัญญาณดำเนินการ สอบถามความคิดเห็นฯ นอกจากการสนทนาในชีวิตประจำวันของระหว่างการทำงานและการประเมินผลงานแล้ว เมื่อมีการพูดคุยเกี่ยวกับการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งผู้บริหารไม่ควรพูดให้ความหวังลมๆแล้งๆ เพื่อหลอกล่อให้พนักงานมีเกิดแรงจูงใจ และไม่ควรสัญญาในสิ่งที่ท่านก็ไม่แน่ใจเช่น การขึ้นเงินเดือนการจ่ายโบนัส เพราะถ้าผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามคำพูดที่ท่านบอกทีมงานไว้ ผู้ที่เสียหายจะกลายเป็นผู้บริหารนั่นเอง
ศีลข้อที่ห้า สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี
ศีลข้อนี้เป็นเจตนาที่จะงดเว้นการดื่มสุราเมรัยที่เป็นต้นเหตุแห่งความประมาทได้ รวมถึงยังเป็นการงดเว้นการเบียดเบียนตนเองอีกด้วย ศีลข้อนี้อาจไม่กระทบต่อการบริหารทีมงานมากนัก ซ้ำยังมีผู้ใช้อ้างว่าสุราเป็นเครื่องมือรับน้องเชื่อมสัมพันธภาพที่ดีภายในทีมงานอีกด้วย แต่ไม่ควรลืมว่าการการมึนเมาจนขาดสติแล้วอาจนำให้ไปเบียดเบียนผู้อื่นและตนเองให้เดือดร้อนจนเสียความน่าเชื่อถือ หรือเสียชีวิตได้
การสร้างบรรยากาศศีลห้ารักษาใจ
ในมุมมองของผู้เขียนแม้การรักษาศีลห้าจะเป็นเรื่องส่วนบุคคลขึ้นอยู่กับผู้บริหารที่จะมีสัมมาทิฏฐิเป็นพื้นฐานที่ดีแต่ถ้าองค์กรได้นำศีลห้ามาประยุกต์ใช้ในกระบวนการบริหารทรัพยากรบุคคลตั้งแต่การสรรหาคัดเลือกผู้บริหารที่สามารถคัดกรองคนดีให้มาเป็นผู้บริหาร การพัฒนาภาวะผู้นำเพื่อส่งเสริมระดับ E.Q.(Emotional Quotient) และD.Q.(Dharma Quotient) เสริมความสามารถด้านการบริหารจัดการ รวมถึงการสร้างกิจกรรมกระตุ้นบรรยากาศการคิดดี พูดดี ทำดีโดยให้ผู้นำเป็นต้นแบบของการรักษาศีล การจัดให้โค้ชสำหรับผู้บริหารเพื่อพัฒนามุมมองทั้งด้านงานและการปรับตัวให้สอดคล้องกับค่านิยมองค์กร เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ย่อมจะช่วยหล่อหลอมให้เกิดพลังบวกในองค์กร บุคลากรรับรู้ได้ถึงภาวะผู้นำที่มีเมตตาและการเป็นต้นแบบของผู้มีธรรมะให้หัวใจเป็นปกติ ที่สำคัญไปกว่านั้นคือการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลให้สอดคล้องกับธรรมนโยบาย แม้ให้ได้ตรงใจไม่ได้ทุกคน แต่คนที่ได้ก็เป็นที่ยอมรับได้ เกณฑ์การพิจารณาต้องยุติธรรม โปร่งใส สร้างกำลังใจคืนความสุขให้คนส่วนใหญ่ในองค์กร
ศีลเปาโล. ศีลห้า ฉบับคู่มือรักษาใจ . กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อมรินทร์, 2548